ข้อมูลวิทยาลัย

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี

สถานที่ตั้ง        63/1  หมู่  7  ตำบลเขาชะงุ้ม  อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี  70120
                   โทร.  032-740-039   แฟกซ์.  032-740-040
ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี  เดิมชื่อโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี ตั้งอยู่ที่เลขที่ 63/1     หมู่  7  ต.เขาชะงุ้ม  อ. โพธาราม  จ.ราชบุรี  ระยะทางจากอำเภอโพธาราม  22 กิโลเมตร  ระยะทางจากอำเภอเมืองราชบุรี  32  กิโลเมตร  และระยะทางจากอำเภอบ้านโป่ง  32 กิโลเมตร  พื้นที่แต่เดิมของโรงเรียนเป็นป่าสงวนธรรมชาติ  เมื่อปี  พ.ศ.  2507  จังหวัดราชบุรีมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรม  เพราะเห็นว่า  จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  เช่น  การปลูกพืชยืนต้น  สวนผลไม้ต่างๆ  สวนผัก  พืชไร่  การทำนา  และการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก  เช่น  สุกร  เป็ด  ไก่  โคเนื้อ  และโคนม  จังหวัดราชบุรีจึงเห็นสมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอาชีพทางการเกษตรของประชาชนที่ดำเนินอยู่ให้ดีขึ้น
          จังหวัดราชบุรี  ได้แจ้งความประสงค์ให้กรมอาชีวศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการให้ทราบว่ามีพื้นดินของจังหวัด  ซึ่งเป็นป่าสงวนอยู่บริเวณเขาเขียว ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จำนวน 8,000 ไร่ ดังนั้นเมื่อวันที่  9  มิถุนายน  พ.ศ.2512  ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรีขึ้น  โดยมีคณะกรรมการจังหวัดราชบุรี  และฝ่ายของกรมอาชีวศึกษา ซึ่งมีนายระบิล  สิตสุวรรณ  รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา  นายเชิญ  มณีรัตน์  หัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรม  ดร.บัญญัติ  วิโมกขสันต์  และนายสัณหจิตต์  ฐาปนะดิลก  ผู้ประสานงานจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรีขึ้น ในที่ประชุมได้ตกลงให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากการสำรวจพื้นที่แล้วจำนวน 608 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงานทางด้านการเกษตรลงมาทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเกษตรมากกว่าพื้นที่เดิมจึงได้ก่อสร้างอาคารต่างๆ ลงในสถานที่ที่อยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งมีจำนวน 1,302 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา
          ในปี  พ.ศ.  2513  โรงเรียนได้รับนักเรียนที่จบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ( ม.ศ.3 ) เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ  แผนกเกษตรกรรม  หลักสูตร 3 ปี ( ม.ศ.4-6 )  จำนวน  71  คน แต่เนื่องจากการก่อสร้างอาคารยังไม่เรียบร้อย โรงเรียนจึงได้ขอใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ( โรงเรียนการช่างราชบุรี ) เป็นสถานที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เมื่อได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ในวันที่  27 พฤศจิกายน 2513 จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายการเรียนการสอนเข้ามายังโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี
          ปี  พ.ศ. 2520 โรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี ได้ยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี  ดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมเป็น 2 หลักสูตร คือ
  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  พุทธศักราช  2520 แผนกเกษตรกรรมรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาใช้ระยะเวลา 3 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5) หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาใช้ระยะเวลา 1 ปี
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2520 แผนกเกษตรกรรม            รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ (ม.ศ.6) แผนกเกษตรกรรมหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกเกษตรกรรม เข้าศึกษาใช้ระยะเวลา 2 ปี
ปี  พ.ศ. 2524  กรมอาชีวศึกษาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียกว่า  หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2524 และดำเนินการจัดการเรียนการสอนพร้อมกับอีก 2 หลักสูตรคงเดิม คือ
  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2524 แผนกเกษตรกรรม รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  คือ ม.ศ.3 หรือเทียบเท่า หรือ ม.3 หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 3 ปี
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) พุทธศักราช 2520 แผนกเกษตรกรรม       รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. หรือ ม.ศ.6 แผนกเกษตรกรรมเข้าศึกษา ใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี
ปี พ.ศ. 2527 กรมอาชีวศึกษาได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค พุทธศักราช 2527 เพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร เพื่อใช้ในจัดการสอนในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาและปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2520 เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2527 มีหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอน 3 หลักสูตร คือ
  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2524แผนกเกษตรกรรมรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คือ ม.ศ.3 หรือเทียบเท่า หรือ ม.3 หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 3 ปี
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2527แผนกเกษตรกรรม รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. หรือ ม.ศ.6 แผนกเกษตรกรรมเข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี
  3. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) พุทธศักราช 2527แผนกเกษตรกรรม          รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6)หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี
และในปี พ.ศ. 2527 นี้ กรมอาชีวศึกษาก็ได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (พิเศษ) แผนกเกษตรกรรม เรียกว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2527 มีชื่อย่อว่า ปวช.(พิเศษ) โดยทำการปรับปรุงมาจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2524 เพื่อนำมาใช้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชนบท (อศ.กช.)  ในสถานศึกษาสังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี ได้ดำเนินการสอนในปี พ.ศ. 2531 รับนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ คือ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) เข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 5 ปี
ปี พ.ศ. 2530 กรมอาชีวศึกษาได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ปวช. เรียกว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2530 ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษาหนึ่งแบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียนปกติ แต่ยังใช้ระยะเวลาเรียน 3 ปีเท่าเดิม ส่วนหลักสูตรในระดับ ปวส.และปวท. ก็ยังคงดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามเดิม
ปี พ.ศ. 2533 กรมอาชีวศึกษาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง          จากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2530 เรียกว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ  พุทธศักราช 2530 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2533) พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค พุทธศักราช 2527 เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคพุทธศักราช 2533  ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร พุทธศักราช 2530 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2533) เป็น 2 ภาคเรียนปกติในปีการศึกษาของแต่ละปี ระยะเวลาเรียนก็ยังคงใช้ 3 ปี ตามเดิม ฉะนั้นในปีการศึกษา2533 วิทยาลัยฯ ทำการเปิดสอน 3 หลักสูตรรวมทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2527
ปี พ.ศ. 2536 กรมอาชีวศึกษาได้มีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2527 เรียกว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2536  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย วิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรีได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็น 3 หลักสูตร คือ
  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2530 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2533)  แผนกเกษตรกรรม รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 3 ปี
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2536 แผนกเกษตรกรรมรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. แผนกเกษตรกรรม และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6)  เข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี
  3. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) พุทธศักราช 2533 แผนกเกษตรกรรมรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เข้าศึกษาใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี และหลักสูตรนี้วิทยาลัยเกษตรกรมราชบุรีได้งดรับนักศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535
ในปี พ.ศ. 2536 วิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี ได้เปิดสอนสาขาวิชาสัตวรักษ์ในระดับ ปวส. ซึ่งเป็นสาขาใหม่ของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2536
ปี พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย และ ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนอีกหน่วยงานหนึ่งขึ้นภายในวิทยาลัยเกษตรกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ สำหรับของวิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี  มีชื่อว่า “วิทยาลัยชุมชนเขาเขียว” ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนที่ไม่ใช่ประเภทวิชาเกษตรกรรมในระดับ ปวช. อีก 2 ประเภทวิชา คือ ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม ในสาขาวิชา       ช่างยนต์ และประเภทวิชาพาณิชยกรรม ในสาขาพาณิชยการ
ในปี พ.ศ. 2538 กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เรียกว่า “หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2538” และมีผลให้เริ่มดำเนินการใช้หลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นไป
ในปี พ.ศ. 2539 กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษาเกษตรโดยการจัดสถานศึกษาให้เป็นปัจจุบันและจัดโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิตให้กับนักศึกษาระดับ  ปวช. โดยจัดที่พักให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียน ได้ทำโครงการเกษตรเพื่อยังชีพและหารายได้ ยกเว้นค่าเล่าเรียนให้กับนักเรียนในโครงการปฏิรูปฯ นอกจากนี้ยังจัดทุนอุดหนุนโครงการเกษตรเพื่อยังชีพให้กับนักเรียนคนละ 5,000 บาทต่อปีการศึกษา
ในปีเดียวกัน กรมอาชีวศึกษาได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาเกษตรทั่วประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาเกษตร วิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรี เป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี
ปี พ.ศ. 2540 กรมอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  พุทธศักราช 2536 เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2540 กำหนดให้ใช้ในปี 2540
ในส่วนระดับ ปวช. ให้ดำเนินการตามโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช  2538
ปี พ.ศ. 2541 กรมอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2538 เพื่อให้ใช้กับนักเรียนในโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต ปีการศึกษา 2541 เปลี่ยนเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2538 (เพิ่มเติม 2541) ได้ดำเนินการใช้กับนักเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป
นอกจากการจัดการศึกษาในระบบปกติ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี มีโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.)  รับนักเรียนเข้าเรียนต่อในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (เกษตรกรรม)  และต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตร  พุทธศักราช  2538  รับบุตรเกษตรกรเยาวชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนเข้าศึกษาตามหลักสูตร  โดยจัดการเรียนในลักษณะแบบพบกลุ่มและทางไกล นักเรียนได้รับการฝึกวิชาชีพเกษตรและเรียนในวิทยาลัย 2-3 วันต่อสัปดาห์
ในปี พ.ศ. 2541 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารวิทยาลัยฯ ตามระเบียบกรมอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง พ.ศ.2541 ซึ่งการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มผู้ช่วยฝ่ายธุรกิจศึกษา เพื่อให้การบริหารงานฟาร์มในวิทยาลัยฯ มีประสิทธิภาพ และเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ และฝ่ายส่งเสริมเป็นฝ่ายการจัดการการศึกษา และฝ่ายบริหารการศึกษา โดยมอบภาระงานหลักในฝ่ายกิจการนักศึกษาให้กับฝ่ายจัดการศึกษา
ในปีการศึกษา 2543 นี้ ทางวิทยาลัยฯ ได้วางแผนการรับนักเรียนระดับ ปวช.1 ของโครงการเกษตรเพื่อชีวิต เข้าเรียนในระบบการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีภาคเกษตรขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนจบ ปวช.1 แล้วมีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ ได้สมัครเข้าไปฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการต่างๆเป็นเวลา 1 ปี (52 สัปดาห์) แล้วกลับมาเรียนต่อที่วิทยาลัยฯ  อีก 1 ปี จบแล้วได้วุฒิปวช. อีกแนวทางหนึ่งที่เรียกว่าการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีภาคเกษตร
ในการบริหารงานวิชาการ  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี  ดำเนินการจัดการเรียนการสอน  แบ่งเป็น  6  คณะวิชาดังนี้
  1. คณะวิชาพืชศาสตร์  มีหน้าที่ให้การศึกษา  และค้นคว้าเกี่ยวกับทางด้านพืชกรรมซึ่งได้แก่ พืชไร่  พืชสวนต่างๆ มีการเรียนการสอนให้ความรู้ด้านทั้งทางด้านภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ  ฝึกฝนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติให้เกิดทักษะการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความชำนาญ  เมื่อจบการศึกษาและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต คณะพืชศาสตร์แบ่งเป็นแผนกวิชาได้หลายแผนก  เช่น แผนกวิชาพืชไร่นา พืชสวนประดับ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น  พืชผัก  ดินและปุ๋ย  อารักขาพืช
  2. คณะวิชาสัตวศาสตร์  มีหน้าที่ให้การศึกษา และค้นคว้าทางด้านสัตวบาลต่างๆ แบ่งเป็นแผนกวิชา ได้แก่  แผนกโคนม  โคเนื้อ-กระบือ  สัตว์ปีก  สุกร  ประมง
  3. คณะวิชาช่างกลเกษตร  มีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกปฏิบัติให้เกิดทักษะในการใช้เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานฟาร์ม แบ่งเป็นแผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาเครื่องทุ่นแรงฟาร์ม  ช่างก่อสร้าง  ไฟฟ้าในฟาร์ม  ช่างกลโรงงาน  สำรวจรังวัดและชลประทานเครื่องยนต์ฟาร์มคณะวิชาช่างกลเกษตร มีการปฏิบัติงานโดยประสานงานกับคณะวิชาพืชศาสตร์และคณะวิชา    สัตวศาสตร์ เพื่อปฏิบัติงานฟาร์มของวิทยาลัยฯ เช่น การเตรียมพื้นที่ในการทำสวนผลไม้ สวนผัก จัดทำแปลงหญ้า ขุดบ่อเพาะเลี้ยงปลา ร่องระบายน้ำ การไถ การพรวน การใส่ปุ๋ยกำจัดวัชพืชและแมลง เป็นต้น
  4. คณะวิชาสามัญสัมพันธ์  ให้การศึกษาเกี่ยวกับวิชาสามัญ  วิชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาพืชศาสตร์และวิชาสัตวศาสตร์ นอกจากนั้น จัดการศึกษาให้กับนักศึกษาเกิดการเรียนรู้ในการที่จะปรับปรุงตัวให้อยู่ร่วมกับสังคมโดยทั่วไปได้ และดำรงชีพต่อไปได้อย่างปกติสุข
  5. คณะวิชาธุรกิจเกษตร ให้การศึกษาและฝึกฝนทางด้านการตลาด การจัดการฟาร์ม การจัดการผลผลิตทางการเกษตรการสหกรณ์เพื่อให้นักศึกษามีความมั่นใจที่จะนำไปประกอบอาชีพได้
  6. คณะวิชาอุตสาหกรรมเกษตร  ให้การศึกษาและฝึกฝนด้านการถนอมอาหารการแปรรูปผลิตผลเกษตรเป็นต้น ที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยมีแผนกงานในความรับผิดชอบในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืช ผลิตภัณฑ์สัตว์ และโรงงานแปรรูปน้ำนม
♦ นอกจากการจัดการศึกษาในระบบแล้ว วิทยาลัยฯ ยังมีหน้าที่อบรมเผยแพร่ความรู้ทางวิชาชีพเกษตร  มีงานฝึกอบรมและบริการวิชาชีพรับผิดชอบงานฝึกอบรมและบริการวิชาชีพมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือเกษตรกรของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีหน้าที่ให้ ครู– อาจารย์ ได้ปฏิบัติงานร่วมกับประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ทำให้การเรียนการสอนสอดคล้องกับอาชีพในท้องถิ่นยิ่งขึ้นซึ่งงานฝึกอบรมและบริการวิชาชีพ มีภาระงาน โครงงานรับผิดชอบ ดังนี้
  • โครงการฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมระยะสั้น
  • โครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย – พม่า
  • โครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้แก่นักเรียนในโรงเรียน  ตชด.
  • โครงการพัฒนาการศึกษาชุมชนบนพื้นที่สูง
 นอกจากนี้ในปี  พ.ศ. 2524 วิทยาลัยฯ ได้รับอนุมัติจากกรมอาชีวศึกษาให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมโคนม ภายใต้โครงการเงินยืมรัฐบาลเดนมาร์ค โดยความร่วมมือขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ศูนย์การส่งเสริมการขยายพันธ์สัตว์ กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศขส.กรป.กลาง)  กรมปศุสัตว์  ซึ่งโครงการดังกล่าวสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้โดยฝึกอบรมเกษตรกรในด้านการเลี้ยงโคนม เพื่อเพิ่มแม่โคพันธุ์ดี การปรับปรุงพื้นที่การทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และสามารถให้การศึกษาแก่นักศึกษาทางแผนกสัตวบาลในเรื่องของการเลี้ยงโคนมได้ เป็นอย่างดี
ในปีการศึกษา 2546 ทางวิทยาลัยฯ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ให้กับนายสิบเหล่าทหารการสัตว์ จังหวัดนครปฐม
ในปีการศึกษา 2547 วิทยาลัยฯ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เรือนจำกลางราชบุรี
ปีการศึกษา 2549 วิทยาลัยฯ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ณ ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนวัดหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนบ้านห้วยยาง ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ในปีการศึกษา 2550 ทางวิทยาลัยฯ ได้ทำการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เรือนจำกลางเขาบินและเรือนจำกลางราชบุรี
ในปีการศึกษา 2551 วิทยาลัยฯ ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ณ สหกรณ์การเกษตรบ้านรางสีหมอก อ.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ในปีการศึกษา 2557 วิทยาลัย ปิดหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ กลุ่มหน่วยป้องกันรักษาป่า รบ.3 (พุยาง) กรมป่าไม้ บ้านท่ายาง อ.ปากท่อ และสาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขางานการจัดการผลิตสัตว์ กลุ่มผู้มีงานทำ ภายในวิทยาลัยฯ และ ในปีการศึกษา 2559 วิทยาลัยฯ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้น 2557 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขางานการจัดการผลิตสัตว์กลุ่มผู้มีงานทำ(เทียบโอนความรู้และประสบการณ์) ภายในวิทยาลัย ฯ

ปีการศึกษา 2558 วิทยาลัย ฯ ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพหลักสูตร 56 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 57 ให้กับผู้เรียนโดยในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเปิดสอน 4 สาขางาน คือ พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ ช่างเกษตรและผลิตสัตว์น้ำ ส่วนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเปิดสอน 4 สาขางาน คือ พืชสวน การจัดการผลิตสัตว์ สัตวรักษ์ และเครื่องจักรกลเกษตร

ในปีการศึกษา 2559 วิทยาลัยฯ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้น 2557 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขางานการจัดการผลิตสัตว์กลุ่มผู้มีงานทำ(เทียบโอนความรู้และประสบการณ์) ภายในวิทยาลัยฯ

ปีการศึกษา 2560 วิทยาลัย ฯ ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพหลักสูตร 56 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 57 ให้กับผู้เรียนโดยในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเปิดสอน 4 สาขางาน คือ พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ ช่างเกษตรและผลิตสัตว์น้ำ ส่วนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเปิดสอน 4 สาขางาน คือ พืชสวน การจัดการผลิตสัตว์ สัตวรักษ์ และเครื่องจักรกลเกษตร

ปีการศึกษา 2561 วิทยาลัย ฯ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สายปฏิบัติการทางเทคโนโลยี (เทคโนโลยีบัณฑิต) สาขาเทคโนโลยีสัตวรักษ์