Skip to content
✧ วันพ่อแห่งชาติ ✧
วันพ่อแห่งชาติของไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจึงมีการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันชาติของไทยอีกด้วย
โดยในวันที่ 5 ธันวาคม จะมีกิจกรรมมากมายเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงการเน้นย้ำความสำคัญบทบาทของ “พ่อ” ที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
✧ ประวัติวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม
วันพ่อแห่งชาติในประเทศไทยนั้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยแนวคิดของคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
การกำหนดวันพ่อแห่งชาตินั้นมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของพ่อทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีพระคุณ และมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม เป็นโอกาสให้ลูก ๆ ได้แสดงความเคารพ ความกตัญญู และยกย่องให้เกียรติผู้เป็นพ่อ
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทางรัฐบาลได้ออกประกาศในวันที่ 13 ตุลาคม ให้มีการคงวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีไว้เป็นวันพ่อแห่งชาติตามเดิม
ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ
การกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันพ่อนั้น มีจุดประสงค์สำคัญดังต่อไปนี้
-
เพื่อเป็นการเทิดทูนพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9
-
เพื่อเน้นความสำคัญของบทบาทของพ่อที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคมไทย
-
เป็นโอกาสให้คุณพ่อและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน
-
เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของตัวเองที่มีต่อครอบครัว
-
เพื่อรักษาและสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยไว้ให้คงอยู่ต่อไป
✧ กิจกรรมในวันพ่อแห่งชาติ
ในช่วงวันพ่อแห่งชาติ มักจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ หน่วยงานราชการ ภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป นิยมจัดกิจกรรม เช่น
-
ประดับธงชาติและธงตราสัญลักษณ์ตามอาคารบ้านเรือน
-
ทำบุญตักบาตร ร่วมพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
-
ร่วมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
-
ที่โรงเรียนหรือหน่วยงานราชการอาจจัดงานประกวดวาดภาพ ระบายสี เรียงความหรือแต่งกลอนวันพ่อ
-
สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน เช่น ร่วมรับประทานอาหาร
“ดอกพุทธรักษา” สัญลักษณ์ของวันพ่อแห่งชาติ
คณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติได้กำหนดให้ “ดอกพุทธรักษา” ดอกไม้ชื่อเป็นมงคลนี้เป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อ เพราะดอกพุทธรักษามีสีเหลือง ตรงกับสีประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
นอกจากนี้ ชาวพุทธยังมีความเชื่อว่าดอกพุทธรักษาคือดอกไม้มงคล โดยหมายถึงการที่พระพุทธเจ้าช่วยคุ้มครองรักษา เพื่อให้มีแต่ความสงบร่มเย็น ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของดอกไม้ รวมทั้งยังมีความเชื่ออีกว่าการปลูกต้นพุทธรักษาไว้ที่บ้านนั้นสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองให้ผู้ที่อยู่อาศัยปลอดจากเหตุร้ายหรือภัยอันตรายได้
ดังนั้น ดอกพุทธรักษาจึงเปรียบเสมือนกับการบอกถึงความรักและเคารพพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว
✧ วันสำคัญของชาติ
นอกจากวันที่ 5 ธันวาคมจะเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และได้รับการกำหนดให้เป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว วันนี้ยังถือว่าเป็น “วันชาติ” ของไทยอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งวันชาติของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี แต่เมื่อปี พ.ศ. 2503 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพเป็น “วันชาติ” มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปี เนื่องจากเป็นวันสำคัญของชาติ ดังนี้
-
วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
-
วันชาติ
-
วันพ่อแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่าง ๆ 9 สาขา ได้แก่
-
-
พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ
-
พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
-
พระบิดาแห่งฝนหลวง
-
พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
-
พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย
-
พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย
-
พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
-
พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย
-
พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย